A V P

Loading





เมื่อฝุ่นไม่ได้แค่ทำให้เป็นภูมิแพ้ แต่อาจทำให้สมองของคุณแย่ลง


 เมื่อฝุ่นไม่ได้แค่ทำให้เป็นภูมิแพ้ แต่อาจทำให้สมองของคุณแย่ลง

           มลภาวะในเมืองก่อขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อคุณภาพสิ่งมีชีวิต อาจเร่งให้คุณเป็นมะเร็งเร็วขึ้น เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และสารพัดโรคต่างๆ นานา ที่เขียนบนหางว่าวก็อาจไล่ไม่จบ

      แต่มีคำถามน่าสนใจที่ยังไม่ค่อยมีใครได้ตอบ คือมลภาวะทางอากาศของเมืองที่หนาแน่นนั้น มีผลต่อพัฒนาการทางสมองมนุษย์อย่างไร สร้างผลกระทบอะไรต่อการตระหนักรู้ หรือถามกันตรงๆ ว่าอากาศแย่ๆ ของเมืองหลวงทำให้ ‘สมองโง่’ ไหม เลยขออาสาพาไปสำรวจงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับประเด็นนี้ว่าเขามีการศึกษากันอย่างไร และการค้นพบที่น่าตื่นตาอาจต้องทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองต้องใส่ใจคุณภาพอากาศกันมากขึ้น

 

หลักฐานซ่อนในสมอง

       การค้นพบข้อเท็จจริงเกิดขึ้นโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1990 เมื่อนักประสาทวิทยา Lilian Calderón Garcidueñas จากมหาวิทยาลัย University of Montana กำลังศึกษาสมองของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s) กลุ่มหนึ่งที่เป็นคนไข้มีพื้นเพจากเมืองเม็กซิโกซิตี้ นักวิจัยส่องกล้องดูชิ้นตัวอย่างสมองพบว่า สมองของผู้เสียชีวิตนั้นมีโปรตีนที่ก่อโรค ‘อะมิลอยเบต้า’ (amyloid-ß) และโปรตีน Tau ซึ่งมักพบได้ปกติในกรณีของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มักมีร่องรอยโปรตีนพิษเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ที่ไม่ธรรมดาแน่ๆ คือ สมองที่เธอศึกษาไม่ใช่สมองคนแก่ แต่กลับเป็นสมองของวัยรุ่น สมองเด็กอายุน้อยๆ ที่ไม่น่าจะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์  น่าแปลกที่เด็กอายุเพียง 11 เดือนก็มีร่องรอยภาวะสมองเสื่อมแล้ว ยิ่งค้นหาจึงยิ่งเจอกรณีคล้ายๆ กันมากถึง 203 ราย ล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง นี่จึงไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับแวดวงประสาทวิทยา มีอะไรไม่ชอบมาพากลทิ้งร่องรอยไว้ในในสมองของเด็กๆ ภารกิจค้นหาความจริงจึงเริ่มขึ้น


       ทีมวิจัยสืบพบว่า สมองส่วนใหญ่นั้นมาจากเมืองเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งขึ้นชื่อ (ค่อนไปทางเสีย) ว่ามีมลภาวะทางอากาศสูงมาก จึงตั้งเป็นสมมติฐานว่า การอาศัยในพื้นที่มลภาวะสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ ทักษะการรู้จำ และอาจถึงขั้นเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองได้หลายปัจจัย เมื่อสมมติฐานได้แพร่กระจายไปวงกว้างจากในแวดวงประสาทวิทยาลามจนไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการเมืองเม็กซิโกซิตี้ จึงมีการสืบค้นที่มาที่ไปของมลภาวะ พวกเขาพบว่าเมืองอันแออัดนี้กำลังเป็นเมืองที่กำลังเติบโต จึงมีโครงการก่อสร้างผุดขึ้นมากมายพร้อมๆ กัน ตึกสูงที่ไม่มีการควบคุมฝุ่นละออง


       การจราจรติดขัดหนาแน่นตลอดทั้งวัน บางครั้งชาวเมืองเห็นเป็นชั้นฝุ่นหนาๆ จนแทบจะปิดท้องฟ้าไปโดยปริยายในวันที่ไม่มีลม และไม่มีชาวเมืองคนใดมีความรู้ในการป้องกันตัวเองจากภัยแอบแฝงผ่านอากาศหายใจ


       พอมาเปรียบเทียบดู กรุงเทพก็มีสถานการณ์ร่วมคล้ายๆ เม็กซิโกซิตี้ที่เราเผชิญ PM2.5 ที่เหมือนจะเป็นผู้อาศัยถาวรแทนที่จะปรากฏแบบครั้งคราว มลภาวะในช่วงนั้นค่อนข้างวิกฤต มีปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมไปถึงเหล่าโลหะอนุภาคเล็กจิ๋วที่กระจัดกระจายในอากาศหายใจ ซึ่งเอาเข้าจริงสถานการณ์แบบนี้สามารถพบได้ในเมืองที่กำลังพัฒนาเกือบทุกแห่งในโลก (รวมถึงกรุงเทพที่ติดชาร์ตอันดับต้นๆ) มีรายงานว่าประชากรโลกถึง 95% จำเป็นต้องอาศัยในเมืองหลวงที่มีมลภาวะสูงในระดับเป็นภัยต่อสุขภาพ โดยที่ไม่รู้อินโหน่อิเหน่ต่อผลกระทบที่กำลังตามมา

 

แล้วต้องอยู่ในพื้นที่มลภาวะนานแค่ไหนถึงเริ่มมีผลต่อสมอง?

แม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในมนุษย์ แต่มีการทดลองในหนู โดยให้พวกมันอยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนมลภาวะที่จำลองให้ใกล้เคียงเมืองหลวงที่อุดมไปด้วยไนโตรเจนไดออกไซด์และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผลออกมาน่าตกใจทีเดียว เพราะไม่ต้องใช้เวลานานเป็นปี แต่เพียง 10 สัปดาห์ก็เห็นผลแล้ว พวกมันเรียนรู้ทักษะใหม่ช้าลง ไม่แอ็กทีฟ ง่วงซึมอยู่ตลอดเวลา เมื่อนำสมองของหนูมาตรวจดูพบว่า สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และความจำเกิดภาวะอักเสบ และปรากฏร่องรอยโปรตีนเป็นพิษอะมิลอยเบต้าจำนวนมาก หนูจึงสูญเสียทักษะในการจดจำอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังผัสสะอื่นๆ


       หากลองพิจารณาว่ามนุษย์นั้นอย่างเราๆ ท่านๆ อาศัยในพื้นที่มลภาวะนานกว่า 10 สัปดาห์แน่ๆ บางคนอาจอยู่มาทั้งชีวิต จากโมเดลที่ทดลองในหนูก็พออนุมานได้ว่า มลภาวะมีผลต่อการเรียนรู้ของพวกเราอย่างแน่นอน


       นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพวกเราถึงต้องการ ‘เมืองที่หายใจได้’ เพราะคุณไม่ได้เพียงแค่หายใจเข้าออก แต่สมองคุณต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อการเติบโต การเปลี่ยนเมืองไปสู่ smart city ที่ลดการปล่อยมลภาวะเป็นภารกิจที่จำเป็นและต้องทำเพื่อประชากรรุ่นต่อๆไป