A V P

Loading





รถติดเพิ่มความรุนแรงในบ้าน


รถติดเพิ่มความรุนแรงในบ้าน
.
รถติดย่อมหงุดหงิด กลับบ้านก็อารมณ์ไม่ดี คุณอาจคิดว่าอารมณ์ไม่ดี อย่างมากก็ทะเลาะกัน แต่ทะเลาะกันถึงขั้นไหน และสร้างความเสียหายทั้งทางกาย ทางจิต และทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน
ไปหาคำตอบกัน !
.

ใครๆ ก็เบื่อรถติด แต่คุณรู้ไหมว่า รถติดนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่เห็นอย่างคาดไม่ถึงเลย ตัวอย่างของ ‘ผลเสีย’ ที่ว่านี้ มาจากการสำรวจของ Texas A&M Transportation Institute ซึ่งเขาไปสำรวจในอเมริกา ในเมืองที่ ‘รถติด’ หนักที่สุดอย่างลอสแองเจลิส คือติดขนาดที่เขาทำตัวเลขออกมาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ชาวแอลเอนั้นเสียเวลาไปกับรถติดเท่ากับปีละ 42 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ เพราะมากกว่าชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์ตามกฎหมายเสียอีก แถมยังผลาญน้ำมันไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ปีละกว่า 10 ล้านลิตรอีกต่างหาก
.
ผลการสำรวจที่ได้น่าสนใจมาก !
ปกติแล้ว เวลารถติด เราจะคิดว่าข้อเสียของมันคือการไปทำงานสาย ไปประชุมไม่ทัน พลาดเที่ยวบิน ไปไม่ทันเดต อะไรทำนองนั้น หลายคนเวลาอยู่ในรถก็เครียด แต่พอถึงที่หมายก็นึกว่าตัวเองหายเครียดแล้ว ลืมไปแล้วว่าเคยเครียดจากรถติดขนาดไหน

แต่คุณรู้ไหมว่า ? ความเครียดที่เกิดจากรถติดมันไม่ได้หายไปไหนเลย มันยังคงตกค้างคุกรุ่นอยู่ในตัวของเรานี่แหละ แล้วก็กลายร่างมาเป็น ‘ความก้าวร้าว’ (Aggression) แทน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางจิตหลายรูปแบบ


ความก้าวร้าวที่ว่า มักจะไม่ได้แสดงออกในที่ทำงานหรือกับคนที่มีอำนาจสูงกว่า แต่มันจะตกค้างเก็บกดอยู่ข้างในจนกระทั่งกลับมาถึงบ้าน แล้วระเบิดระบายออกมาในรูปของ ‘ความรุนแรงในบ้าน’ (Domestic Violence)

.

ด้วยเหตุนี้ คุณหลุยส์ ฟิลิปป์ บีแลนด์ (Louis-Philippe Beland) และคุณแดเนียล เอ เบรนต์ (Daniel A. Brent) จากมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา ก็เลยทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชื่อ Traffic and Crime คือเอาสถิติเกี่ยวกับรถติด มาวิเคราะห์ร่วมกับสถิติอาชญากรรม เพื่อดูว่า รถติดมันเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะวัด ‘ต้นทุนทางจิตวิทยา’ ที่ต้องเสียไปเนื่องจากปัญหารถติด โดยจะดูแค่ในแถบลอสแองเจลิสเท่านั้น

ที่เขาไปโฟกัสลอสแองเจลิสก็เพราะที่นี่ถือเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าในบรรดาถนนที่รถติดที่สุดในอเมริกา 10 อันดับแรกนั้น มีถนนของแอลเออยู่ อันดับ แล้วในพื้นที่ที่พีคๆ มากๆ นั้น ชาวแอลเอ (เมืองนางฟ้า) ต้องใช้เวลาไปกับรถติดมากถึงปีละราว 80 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 3.5 วัน กันเลยทีเดียว โดยชั่วโมงเร่งด่วนกับชั่วโมงปกตินั้น การจราจรแตกต่างกันถึงราว 43% ทำให้ปัญหาจราจรเป็นเรื่องใหญ่ของแอลเอ

แล้วเขาทำวิจัยยังไงถึงเอาอาชญากรรมมารวมกับรถติดได้

เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้เรามี ‘ฐานข้อมูล’ ในแบบ Big Data เยอะไปหมด วิธีการที่เขาใช้ก็คือการเอาข้อมูลจากบันทึกประจำวันของตำรวจในช่วงปี 2011 ถึง 2015 ที่มีด้วยกันมากว่าสองล้านกรณี มาจับคู่เข้ากับการสังเกตการณ์เรื่องการจราจรจาก app จราจรต่างๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากกว่า 25 ล้านข้อมูล ข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลแบบนี้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงอาชญากรรมเข้ากับการจราจรได้

และตัวเลขที่ออกมาก็น่าทึ่งมาก !

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนก็คือ ถ้าการจราจรติดขัดมากๆ (เขาทำออกมาเป็นเปอร์เซนไทล์) คือเหนือกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ขึ้นไป พบว่าสถิติอาชญากรรมนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยอาชญากรรมหรือสิ่งที่ปรากฏในบันทึกประจำวันนั้น จะเป็นเรื่องความรุนแรงในบ้าน (Domestic Violence) เป็นส่วนใหญ่ เขาทดลองกับข้อมูลด้วยการไขว้กันไปมา เพื่อกันปัจจัยอื่นๆ ทิ้งไป เช่น เทียบรถติดกับอาชญากรรมในวันอื่น เทียบการจราจรในตอนเช้ากับอาชญากรรมในตอนเย็น หรือลองเทียบการจราจรกับอาชญากรรมแบบอื่นๆ ที่สุดก็พบว่า รถติดกับอาชญากรรมประเภทความรุนแรงภายในบ้านนั้น มีความสัมพันธ์กันมากที่สุด โดยในเขตที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็ยิ่งเกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย หรือหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน (เช่น รถชนกัน) ความรุนแรงในบ้านก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน


งานวิจัยนี้ยังประมาณการความเสียหายด้วยว่า ความรุนแรงในบ้านที่เกิดขึ้นเพราะรถติดไปโน้มนำให้เกิดนั้น สร้างความเสียหายราว 150 ล้านบาท ถึง 300 ล้านบาทต่อปี โดยตัวเลขที่ได้มา เป็นแค่ตัวเลขที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนไปแจ้งความเท่านั้น แต่ความรุนแรงในบ้านที่ไม่ได้ถึงโรงถึงศาลถึงตำรวจนั้น ต้องนับว่ามีมากกว่าอีกมากมายมหาศาล ตัวเลขที่ได้จึงถือว่าเป็นเหมือนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง


คำถามก็คือ แล้วจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี ..?

เขาบอกว่า การสร้างถนนเพิ่มไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่สิ่งที่น่าจะช่วยได้มากกว่า (ทั้งที่ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้) ตามงานวิจัยของซีแอตเติลในรัฐวอชิงตัน ก็คือการเก็บค่าผ่านทางตามถนนต่างๆ ในเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน หรือถ้าเป็นทางที่เก็บค่าผ่านทางอยู่แล้ว ในชั่วโมงเร่งด่วนก็ต้องเก็บเพิ่มขึ้นไปอีก เรียกว่านโยบาย Time-of-Day Pricing พบว่าช่วยแก้ปัญหารถติดได้ชะงัด

 

          ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องการจราจรและความรุนแรงในแอลเอ ซึ่งเอาเข้าจริงต้องบอกว่ามี ‘ปัญหารถติด’ น้อยกว่ากรุงเทพฯ อย่างเทียบกันไม่ได้

แต่ที่กรุงเทพฯ ของเรามีน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ก็คืองานวิจัย (ที่แลดูแปลกๆ) ทำนองนี้ รวมไปถึงวิธีคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยวิธี (ที่อาจแลดูแปลกๆ) ต่างๆ  เพราะฉะนั้นเราก็อาจต้องอยู่กับรถติด (และความรุนแรง) กันต่อไป