A V P

Loading





สีป้ายทะเบียนรถ มีทั้งหมดกี่สี แต่ละสีหมายความว่าอย่างไร ?


ป้ายทะเบียนรถมีทั้งหมดกี่สี ป้ายทะเบียนรถสีฟ้า ป้ายทะเบียนรถสีเขียว และป้ายทะเบียนรถสีอื่น ๆ มีความหมายว่าอะไรบ้าง ไปหาคำตอบกัน


ป้ายทะเบียน คือ ป้ายสัญลักษณ์ที่ทำจากแผ่นโลหะ โดยจะระบุหมวดตัวอักษรและตัวเลข เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า รถยนต์ / รถจักรยานยนต์ หรือยานพาหนะนั้น ๆ ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งป้ายทะเบียนที่พบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนน ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายทะเบียนสีขาว ตัวหนังสือสีดำ แต่จริง ๆ แล้วป้ายทะเบียนยังมีสีอื่น ๆ อีกมากมาย ได้แก่ ป้ายทะเบียนรถสีเหลือง, ป้ายทะเบียนรถสีเขียว, ป้ายทะเบียนรถสีฟ้า, ป้ายแดงและป้ายทะเบียนรถที่มีลวดลายกราฟิก ซึ่งแต่ละแบบไม่ได้ใส่สีสันเพียงเพราะความสวยงาม แต่เป็นการแบ่งแยกประเภทตามลักษณะการใช้งานของรถยนต์ 

รถประเภทใดบ้างที่ต้องจดทะเบียน

รถยนต์หรือยานพาหนะที่ต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกนั้น คือรถทุกชนิดที่จะนำมาวิ่งหรือใช้งานบนท้องถนน เช่น รถยนต์ รถกระบะ รถตู้ รถบรรทุก รถสามล้อเครื่อง รถแทรกเตอร์ รถบดถนน และรถมอเตอร์ไซค์ โดยการจดทะเบียนจะแบ่งออกตามประเภทของการใช้งาน ซึ่งมีทั้งหมด 17 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • รย.1 - รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
  • รย.2 - รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  • รย.3 - รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
  • รย.4 - รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
  • รย.5 - รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด
  • รย.6 - รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน
  • รย.7 - รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง
  • รย.8 - รถยนต์รับจ้างสามล้อ
  • รย.9 - รถยนต์บริการธุรกิจ
  • รย.10 - รถยนต์บริการทัศนาจร
  • รย.11 - รถยนต์บริการให้เช่า
  • รย.12 - รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
  • รย.13 - รถแทรกเตอร์ กำหนดลักษณะตามใช้งาน
  • รย.14 - รถบดถนน ไม่ต้องกำหนดลักษณะ
  • รย.15 - รถใช้งานเกษตรกรรม
  • รย.16 - รถพ่วง ไม่กำหนดลักษณะ
  • รย.17 - รถจักรยานยนต์สาธารณะ

สีป้ายทะเบียนรถแต่ละสี มีความหมายว่าอะไร

มาดูกันว่าป้ายทะเบียนรถแท้จริงแล้วมีทั้งหมดกี่สี แต่ละสีหมายความว่าอย่างไรบ้าง

สีป้ายทะเบียนรถ

 

1. ป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถยนต์ รถเก๋ง รถ SUV รถกระบะ 4 ประตู และรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล

สีป้ายทะเบียนรถ

 

2. ป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว

คือ รถบรรทุกส่วนบุคคล เช่น รถกระบะ หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก

สีป้ายทะเบียนรถ

 

3. ป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน

คือ รถนั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้ หรือรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่

สีป้ายทะเบียนรถ

 

4. ป้ายทะเบียนรถสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

คือ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่บรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

สีป้ายทะเบียนรถ

5. ป้ายทะเบียนรถสีแดงสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

คือ ป้ายทะเบียนรถที่กรมการขนส่งทางบกออกไว้ให้ใช้ชั่วคราว เพื่อแสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวยังไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการใช้งานคือไม่เกิน 30 วัน และห้ามใช้งานในช่วงเวลาหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน

สีป้ายทะเบียนรถ

6. ป้ายทะเบียนรถสีฟ้าไม่สะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาว

คือ ป้ายทะเบียนรถพิเศษที่ใช้สำหรับบุคคลในหน่วยงานพิเศษของสถานทูต สถานกงสุล หรือองค์กรระหว่างประเทศ 

          - อักษร พ  คือ หน่วยงานพิเศษในสถานทูต

          - อักษร ก คือ คณะผู้แทนกงสุล

          - อักษร อ คือ องค์กรระหว่างประเทศ

สีป้ายทะเบียนรถ

 

7. ป้ายทะเบียนรถสีส้มสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

คือ ป้ายทะเบียนรถสำหรับใช้ทางเกษตรกรรม เช่น รถพ่วง รถแทรกเตอร์ รถไถ

สีป้ายทะเบียนรถ

 

8. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีแดง

คือ รถยนต์รับจ้างที่ทำการวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด

สีป้ายทะเบียนรถ

 

9. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน

คือ รถยนต์ 4 ล้อเล็กที่วิ่งรับจ้าง 

สีป้ายทะเบียนรถ

 

10. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว

คือ รถยนต์รับจ้าง 3 ล้อ เช่น รถตุ๊ก ๆ

สีป้ายทะเบียนรถ

 

11. ป้ายสีเขียวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาว หรือสีดำ

คือ รถที่ให้บริการทัศนาจรต่าง ๆ รถบริหารธุรกิจ รถบริการให้เช่า เช่น รถลีมูซีนสนามบิน

สีป้ายทะเบียนรถ

 

12. ป้ายทะเบียนรถที่มีลวดลายกราฟิก

คือ ป้ายทะเบียนรถหมายเลขพิเศษที่มาจากการประมูล

อย่างไรก็ตาม รถยนต์หรือยานพาหนะต่าง ๆ ที่มีการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรใช้งานรถให้ตรงกับประเภทของป้ายทะเบียนนั้น หากมีการใช้งานที่ผิดประเภทและเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกับการใช้ป้ายซีด สีป้ายทะเบียนจาง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ เช่น หมวดอักษร ตัวเลข หรือจังหวัด ได้อย่างชัดเจน สามารถดำเนินการขอแผ่นป้ายทะเบียนใหม่ที่กรมการขนส่งทางบก